กลยุทธ์การผลิต การตลาดผลไม้ไทย

กลยุทธ์การผลิต การตลาดผลไม้และแนวทางการแก้ไขปัญหาผลไม้ทั้ง 3 ชนิดได้แก่ ทุเรียน มังคุด และเงาะ ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของทางภาคตะวันออกและภาคใต้ของประเทศไทย โดยผลผลิตของผลไม้ทั้ง 3ชนิดรวมกันในแต่ละปีมีมากกว่า 1,000,000ตัน และสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรปีละประมาณ 10,000 – 20,000 ล้านบาท ทั้งนี้ผลจากการศึกษาพบว่า ปัญหาการผลิตผลไม้ที่สำคัญของประเทศไทยในส่วนของทุเรียน มังคุด และเงาะ ได้แก่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ด้านการบริหารจัดการดูแลสวนเพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพดี มีเกรดและขนาดตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในคุณภาพผลผลิตของผู้บริโภค ประกอบกับต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าปัจจัยการผลิต เช่น ค่าปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืช ทำให้เกษตรกรมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลจัดการสวนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายเนื่องจากเก็บเกี่ยวไม่ทัน และค่าแรงงานในการเก็บเกี่ยวก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทำให้ไม่คุ้มค่าหากต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตขายในช่วงที่ราคาตกต่ำ นอกจากนี้เกษตรกรยังประสบปัญหาโรคและแมลงรบกวน ขาดแคลนแหล่งน้ำและเงินทุนในการพัฒนาแหล่งน้ำ สำหรับปัญหาด้านการแปรรูป ได้แก่ สถาบันเกษตรกรยังขาดอุปกรณ์และเทคโนโลยีในการแปรรูปผลผลิต การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ทำให้การแปรรูปผลไม้ส่วนใหญ่เป็นการแปรรูปขั้นต้นและดำเนินการโดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน ยังขาดการรับรองมาตรฐานการผลิตซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น นอกจากนี้สถาบันเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในการบริหารจัดการ การจัดจำหน่ายผลผลิตและการตลาดผลไม้แปรรูป สำหรับปัญหาด้านการตลาดที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาราคาที่เกษตรกรขายได้มีราคาตกต่ำในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก สถาบันเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรไม่มีตลาดรองรับปลายทาง เนื่องจากขาดระบบการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ พ่อค้าเป็นผู้กำหนดราคาและประเมินคุณภาพผลผลิต ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาถูกกดราคาจากพ่อค้า นอกจากนี้ผลไม้มีระยะเวลาในการวางจำหน่ายที่จำกัด เนื่องจากเน่าเสียง่ายและมีอายุการเก็บรักษาสั้นเกษตรกรจึงมีอำนาจต่อรองน้อย

จากปัญหาและอุปสรรคด้านต่างๆที่เกี่ยวกับผลไม้รวมทั้งการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจผลไม้ของประเทศไทยและคู่แข่งขัน นำมาสู่การวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของผลไม้ไทย โดย มีจุดแข็ง คือ ประเทศไทยมีสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยในการเพาะปลูกทุเรียน มังคุด และ เงาะ ได้ในหลายพื้นที่ โดยมีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ และเป็นศูนย์กลางการคมนาคม ขนส่ง ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ผลไม้ไทยยังเป็นที่รู้จักกันอย่างดีของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผลไม้นอกฤดูอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันสามารถผลิตทุเรียนนอกฤดูและกำลังศึกษาวิจัยในมังคุด นอกจากนั้นยังมีคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ซึ่งทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ผลไม้ รวมทั้งแก้ไขปัญหาต่างๆทั้งในด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด อย่างเป็นระบบครบวงจร สำหรับจุดอ่อน คือ ผลไม้มีปริมาณและคุณภาพไม่แน่นอนในแต่ละปี และออกสู่ตลาดพร้อมกันในลักษณะกระจุกตัว เน่าเสียง่าย ประกอบกับสถาบันเกษตรกรยังขาดความรู้ด้านการบริหารจัดการ เงินทุนและเทคโนโลยีในการแปรรูปผลไม้ และการส่งออกผลไม้ยังพึ่งพาตลาดจีนเป็นหลักเพียงประเทศเดียว สำหรับโอกาสคือ ปัจจุบันประเทศไทยมีการลงนามในข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ เช่น FTA ไทย-จีน, FTA อาเซียน-จีน, AFTA และ JTEPA ซึ่งมีผลทำให้ภาษีนำเข้าผลไม้ลดลงหรือเป็นศูนย์ จึงมีโอกาสขยายมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกไปยังประเทศจีนและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งทำให้สามารถขนส่งผลไม้ไปยังประเทศจีนได้รวดเร็วขึ้น และส่งออกผลไม้ผ่านการค้าชายแดนได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูป การยืดอายุผลไม้โดยบรรจุภัณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการขนส่งอย่างต่อเนื่อง เช่น เงาะในถุงสุญญากาศ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์แบบ Fresh chill เป็นต้น สำหรับอุปสรรค ได้แก่ การค้าขายผลไม้กับประเทศจีนเป็นระบบฝากขาย (Consignment)ผู้ส่งออกเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านความผันผวนของราคาและผู้นำเข้าผลไม้ในประเทศจีนต้องมีใบอนุญาตการนำเข้า (Import license) ผู้ส่งออกไทยไม่สามารถตั้งร้านจำหน่ายผลไม้ของตนเองในประเทศจีนได้ถ้าไม่มีใบอนุญาต

This entry was posted in สินค้าและบริการ and tagged . Bookmark the permalink.

Comments are closed.